มาทำความรู้จักอีกแร่ธาตุที่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นของที่มีมูลค่าได้ แร่ควอตซ์ แร่ตัวนี้เกิดมาได้อย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญในเรื่องใด กระบวนการธรรมชาติที่แสนมหัศจรรย์ในการกำเนิดแร่ควอตซ์นั้นคืออะไร มาเริ่มเปิดตำราแร่ธาตุน่ารู้ไปพร้อม ๆ กันเลย
แร่ควอตซ์ คือ แร่ที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีความแข็งแรงเป็นอันดับ 7 ตามสเกลโมส์ มาตราการวัดความแข็งของแร่ที่ตั้งขึ้นโดย ฟรีดริช โมส นักเหมืองแร่ชาวเยอรมัน แร่ควอตซ์มีลักษณะเป็นแท่งยาว ปลายสองด้านแหลม เนื้อวาวคล้ายแก้ว มีทั้งแบบโปร่งใสและแบบทึบ ส่วนมากมีสีขาวขุ่น แต่ก็มีที่เป็นสีสัน ไม่ว่าจะเป็นสีม่วง ชมพู เหลือง แร่ควอตซ์มีองค์ประกอบด้วยหินอัคนีชนิดที่มีซิลิกาสูงมาก
แร่ควอตซ์นั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของหินอัคนี ชนิดที่มีซิลิกามาก ๆ เช่น หินแกรนิต ไรโอไลท์ และเปกมาไทท์ เป็นแร่ที่ทนทานต่อการทำลายทั้งทางเคมีและทางกลศาสตร์ เมื่อหินอัคนีแตกหักผุพังลง แร่นี้จะสะสมตัวกันเป็นหินชั้น แร่ควอตซ์จำพวกฟลินท์ จะเกิดรวมกับหินชอล์กใต้ทะเล สารละลายที่มีซิลิกาอยู่จะเข้าไปแทนที่ชั้นของหินปูนเกิดเป็นหินเชอร์ท ในหินอัคนี
จะพบแร่ควอตซ์เกิดอยู่ร่วมกับเฟลด์สปาร์ และมัสโคไวท์ เป็นสายแร่ อาจพบแร่ควอตซ์เกิดอยู่ตามชายท้องน้ำลำธาร และตามฝั่งทะเลในรูปของทราย เป็นส่วนประกอบของดินด้วย มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ควอตว์ชนิดที่เป็นผลึก อาจจะเกิดจากน้ำเย็นหรือไม่เกี่ยวข้องกับความร้อนเลยก็ได้
แร่ควอตซ์มีประโยชน์อย่างมากในการทำอุตสาหกรรม เพราะมีคุณสมบัติทนทานเป็นพิเศษ ทนต่อแรงกด แรงกระแทกได้ดี ทนความร้อนได้ถึง 1,800 องศาเซลเซียส มีไฟฟ้าที่เกิดจากการกดดันทางกลไกที่มีต่อผลึก ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าขึ้นในแร่ควอตซ์ (เพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) ) ที่ใช้ในการควบคุมคลื่นความถี่วิทยุ และความเที่ยงตรงของนาฬิกาได้
แร่ควอตซ์ที่มีลักษณะโปร่งใสต่อแสงอัลตราไวโอเลต จะถูกนำไปใช้ในการทำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น เลนส์ ปริซึม เครื่องมือในกล้องจุลทรรศน์ เป็นต้น และด้วยคุณสมบัติของแร่ควอตซ์ที่สามารถคุมความเที่ยงตรงของนาฬิกาได้ จึงมีการคิดค้นทำนาฬิกาที่เราเรียกกันว่า นาฬิกาควอตซ์ ขึ้นมาด้วย
แร่ควอตซ์ไซต์และหินทรายถูกใช้เป็นหินก่อสร้าง ทำคอนกรีต ทำอิฐปูทางเท้า อิฐ รวมทั้งเป็นวัสดุที่ใช้ทำกระเบื้องปูพื้น ธรณีประตู หน้าต่าง พื้นผิวเคาน์เตอร์ห้องครัว และหินปูโต๊ะ
ในด้านอุตสาหกรรมทำแก้ว ทำกระดาษทรายก็มีการใช้แร่ควอตซ์ในกระบวนการผลิตเช่นกัน แร่ควอตซ์ที่ละเอียดเป็นผงจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการทำเครื่องเคลือบที่เรียกว่า พอร์ซเลน (Porcelain) และยังใช้แร่ควอตซ์ลงในผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า วู้ดฟิลเลอร์ (Wood Filler) เพื่อใช้ในการอุดซ่อมแซมเนื้อไม้อีกด้วย
ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการพบแร่ควอตซ์ตามมุมต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยที่แต่ละที่ที่พบก็จะให้ลักษณะแร่ควอตซ์ที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับแร่ธาตุที่มีอยู่บริเวณนั้น ๆ โดยแหล่งที่พบแร่ควอตซ์ คือ
แร่ควอตซ์ในประเทศไทย สามารถพบ ได้ในหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ ตาก ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ โดยแต่ละแหล่งอาจมีแร่ควอตซ์ต่างชนิดกัน เช่น ควอตซ์สีม่วงพบได้มากที่จังหวัดนครนายก ลำปาง และตาก ควอตซ์สีชมพูพบได้ที่ภูเก็ต ระนอง พังงา จันทบุรี เป็นต้น
ส่วนในต่างประเทศนั้นแร่ควอตซ์จะพบมากใน บราซิล ฮังการี อินเดีย อิรัก ญี่ปุ่น มาดากัสการ์ ศรีลังกา สกอตแลนด์ และสหรัฐอเมริกา
และนี้คือเรื่องราวของแร่ควอตซ์ที่เราเอามาฝากกันในวันนี้ จะเห็นได้ว่าแร่ควอตซ์มีประโยชน์มากมายในวงการอุตสาหกรรม ไม่เพียงแค่สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการก่อสร้างอีกด้วย เป็นแร่ที่มีค่าและยังเป็นสินค้านำเข้าส่งออกที่สำคัญของบางประเทศทำให้ในการขนส่งต้องมีการทำประกันภัยการขนส่งเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย