เรื่องการตรวจเช็คระบบไฟฟ้าในบ้าน ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไกลตัวของใครหลายคน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในการตรวจเช็คโดยเฉพาะ แต่ในฐานะที่เราต้องเป็นเจ้าของบ้าน การมีความรู้พื้นฐานในการตรวจเช็คระบบไฟนั้นมีความจำเป็น เพราะถ้าหากเกิดเหตุปัญหาเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟก็จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ในทันที
การตรวจเช็คระบบไฟฟ้าในบ้าน ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ เพราะการตรวจเช็คในระดับขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ในขณะนั้น วันนี้มาดูกันว่า 5 วิธีตรวจเช็คระบบไฟฟ้าในบ้าน มีอะไรบ้าง
สิ่งแรกที่ต้องเริ่มตรวจเช็คระบบไฟฟ้าในบ้าน คือการเช็กมิเตอร์ไฟฟ้า ด้วยการปิดสวิตช์ไฟทุกจุดภายในบ้าน รวมถึงถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกตัว หลังจากนั้นไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าว่าตัวเฟืองเหล็กยังหมุนหรือเปล่า หากยังหมุนอยู่แสดงว่าอาจมีกระแสไฟรั่ว จึงควรตรวจสอบให้อย่างแน่ชัดเพื่อที่จะได้เรียกให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ไขได้โดยด่วน
ต่อมาคือการตรวจเช็กเมนสวิตช์เพื่อดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดค้างอยู่หรือไม่ เพราะในบางครั้งอาจมีมดหรือแมลงเข้าไปทำรังภายในตู้ได้ รวมถึงการตรวจเบรกเกอร์ลูกย่อยว่ายังสามารถใช้ปลดวงจรได้หรือเปล่า หากพบว่ามีอุปกรณ์ที่ชำรุดควรรีบเปลี่ยนใหม่ในทันที
การตรวจเช็กสายไฟฟ้าตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้านถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรทำ โดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดานที่อาจใช้งานเป็นเวลานานจนทำให้เสื่อมสภาพ หรือถูกหนูแทะจนสายไฟอาจขาดได้ หากพบว่าสายไฟมีบางจุดที่ขาดควรรีบเปลี่ยนใหม่โดยด่วน
การตรวจเช็กเต้ารับไฟฟ้าว่ามีรอยแตกร้าวหรือหลวมหรือไม่ หากพบว่าเต้ารับไฟฟ้ามีรอยแตกร้าวหรือพบรอยไหม้ให้รีบเปลี่ยนทันที หรือถ้าหากว่าเต้ารับไฟหลวมก็สามารถใช้ไขควงขันน็อตให้แน่นเพื่อกลับไปใช้งานได้ปกติ
สุดท้ายคือการตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในบ้านว่ายังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ เช่น ตรวจเช็กเครื่องซักผ้าด้วยการใช้ไขขวงแตะไปที่ตัวเครื่อง หากหลอดไฟติดหรือเรืองแสงแสดงว่าเครื่องซักผ้ามีกระแสไฟรั่วซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและควรหยุดใช้งานทันที เพราะสามารถเกิดอันตรายจากเหตุการณ์ไฟดูดได้
หากตรวจเช็กแล้วพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเกิดไฟรั่ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือการถอดปลั๊ก ปิดเมนสวิตช์ และงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าตัวนั้น หลังจากนั้นหาวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการติดตั้งระบบสายดินที่ได้รับมาตรฐาน และการติดตั้งเบรกเกอร์เพิ่มเติมเพื่อป้องกันไฟดูด โดยมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยแนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วสำหรับการใช้ไฟฟ้าภายในห้องครัว ห้องน้ำ โรงจอดรถ ที่มีพิกัดไฟรั่วไม่เกิน 30 มิลลิแอมป์
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับ 5 วิธีตรวจเช็คระบบไฟฟ้าในบ้านที่เราได้แนะนำไป เชื่อว่าทุกคนสามารถนำเคล็ดลับขั้นพื้นฐานเหล่านี้ไปทำตามกันได้แบบง่าย ๆ ก่อนที่จะให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาจัดการ และที่สำคัญควรหมั่นตรวจเช็คระบบไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หรือเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นไปอีกขั้นด้วยการทำประกันวินาศภัย ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เพื่อมอบความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินให้ดีที่สุด